วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

คุณธรรมและมารยาทการสื่อสารในบริบทต่างๆ

การสื่อสารอาจเกิดขึ้นได้ในบริบทที่ต่างกัน คำว่า บริบท ในที่นี้ หมายถึง สถานที่ บุคคล และโอกาส จะเห็นได้ว่า คุณธรรมและมารยาทมีความสำคัญต่อการสื่อสารในบริบทต่างๆ ซึ่งมีดังนี้
การสื่อสารในครอบครัว

๑. สมาชิกในครอบครัว ต้องคำนึงว่า แต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน ทำให้คำพูดที่สื่อสารระหว่างบุตรกับบิดามารดาหรือผู้ปกครอง อาจทำให้มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสมาชิกในครอบครัวต้องมีความตั้งใจดีต่อกัน ยอมรับซึ่งกันและกันและใช้เหตุผลพูดกัน
๒. การสื่อสารในครอบครัว ถึงแม้ว่าจะเป็นการสื่อสารอย่างเป็นกันเอง แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช่ข้อความบางอย่างที่อาจทำให้เกิดความขัดข้องหมองใจกัน หรือเข้าใจไม่ตรงกัน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวก็ได้
๓. คนในครอบครัวควร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะคำบางคำในแต่ละสมัยสื่อความหมายไม่เหมือนกันเช่น ชื่อเรียกของสีผู้ใหญ่มักจะเรียกสีส้ม ว่าสีแสด คำที่ขึ้นอยู่กับยุคสมัยเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันระหว่างบุคคลในครอบครัวที่มีอายุต่างวัยกัน จึงจำเป็นที่คนในครอบครัวควรเรียนรู้คำที่ใช้สื่อสารกันในยุคสมัยของแต่ละคน
๔. การสื่อสารในครอบครัว ควรคำนึงถึงมารยาทที่ดีในการพูดซึ่งกันและกัน เพราะจะทำให้มารยาทเหล่านี้ติดตามไปในการพูดในกาลเทศะต่างๆ เช่น ไม่พูดข่ามศีรษะผู้อื่น ไม่ควรตะโกนพูดกัน และไม่แย่งกันพูด

การสื่อสารในโรงเรียน
๑. การสื่อสารในโรงเรียน อาจใช้เวลานาน เพราะเรื่องราวที่ใช้สื่อสารอาจจะมีปริมาณมาก ผู้ส่งสารจึงจำเป็นต้องบอกผู้รับสารว่าจะใช้เวลามากแค่ไหน และพูดอย่างไรเรื่องอะไรบ้าง ผู้ส่งสารควรรักษาเวลา และพูดไม่พูดนอกเรื่อง ควรพูดในขอบเขตของเรื่องที่จะพูด ส่วนผู้รับสารควรตั้งใจและอดทนฟัง รวมถึงต้องให้เกียรติผู้พูดด้วยเช่น การลุกออกจากที่ประชุมเมื่อมีกิจธุระควรขออนุญาตและทำความเคารพผู้ส่งสารซึ่งเป็นมารยาทที่ควรปฏิบัติต่อผู้เข้าประชุม
๒. การสื่อสารในโรงเรียน บางทีอาจจะมีการโต้แย้งถกเถียงกันระหว่างผู้ส่งสาร กับผู้รับสารได้ การโต้แย้งถกเถียงกันควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งสองผ่ายและควรเหตุผล ไม่พูดหยาบคายไม่ควรใช้อารมณ์เพราะจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทได้
๓. การสื่อสารในโรงเรียน อาจมีทั้งการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือสื่อสารในกลุ่ม ซึ่งข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ควรนำมาเผยแพร่ เพราะจะมีผลเสียหายสะท้อนกลับมา ถึงบางเรื่องจะเผยแพร่ได้ก็ควรคำนึงเสมอว่าไม่ควรเอาเรื่องไปพูดให้บิดเบือนจากความเป็นจริง
๔. ควรระมัดระวังท่าทาง การพูดที่ใช้ติดต่อสื่อสารกัน เพราะในโรงเรียนเป็นที่ที่ทุคลสามารถเข้ามาเพื่อติดต่อธุระบางอย่างได้เช่นผู้ปกครองเข้มารับบุตร ซึ่งในการสื่อสารกันระหว่างเพื่อนบางคำอาจจะดูไม่หยาบคาย แต่ในสายตาของคนภายนอกอาจจะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี และอาจทำให้เสียภาพลักษณ์ของโรงเรียนไป
๕. บุคคลที่ทำงานภายในโรงเรียน เช่น นักการ ครู หรือผูบริหารจำเป็นต้องมีการสื่อสารซึ่งกันและกัน จึงควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ไว้วางใจกัน และเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า จะช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น

การสื่อสารในวงสังคมทั่วไป
๑. คำทักทาย ควรใช้คำทักทายที่เหมาะสมสุภาพ และควรศึกษาประเพณีแต่ละท้องถิ่นด้วย เพราะการทักทายของแต่ละท้องถิ่นนั้นมีทำเนียมการทักทายที่ไม่เหมือนกัน
๒. ในบางโอกาส จะมีการสื่อสารเพื่อการแสดงความยินดี หรือแสดงความเสียใจ ซึ่งมักจะกระทำกันด้วยวาจา
๓. การสื่อสารในวงสังคมนั้น จะมีการติดต่อกับบุคคลที่เราไม่รู้จักการพูดด้วยต้องใช้คำสุภาพตามสมควร และต้องพูดตรงประเด็น
๔. ในการคบหากับชาวต่างชาติ เราก็ควรจะศึกษามารยาท และประเพณีที่สำคัญๆของกันและกัน แต่ก็ควรระลึกไว้ว่าชาวต่างประเทศจำนวนมากรู้ภาษาไทย จึงควรระวังการใช้ถ้อยคำที่สุภาพ

ภาษากับการปลูกฝังคุณธรรม
ภาษิต เป็นคำที่ผู้ฉลาดผูกขึ้น เพื่อประโยชน์เฉพาะกาล ใช้เตือนใจมนุษย์ เช่น " รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี " จะสอนให้รู้จักใฝ่หาความรู้ ความรู้จะมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้ร่วมงาน
นิทาน เป็นเครื่องช่วยปลูกฝังคุณธรรม การฟังนิทาน เราต้องใช้การใคร่ครวญเช่นเดียวกับการฟังเรื่องทั้งหลาย นิทานจะสอนให้เราเข้าใจชีวิต และให้เห็นคุณค่าของความดี ทั้งนิทานระดับชาวบ้าน ในหนังสือเรียน และในวรรณคดี
ตำนาน มักจะกล่าวถึงบุคลสำคัญและสอนให้เห็นถึงคุณธรรมของบุคคลนั้น ทำให้ผู้ที่ได้อ่าน หรือฟังตำนานนั้นๆเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ส่วนตำนานท้องถิ่นก็ทำให้คนรักท้องถิ่น
วรรณคดี มีอิทธิพลต่อต่อคุณธรรมของชนชาติที่เป็นเจ้าของมาก การศึกษาวรรณคดีก็คือการเรียนชีวิตส่วนลึกของมนุษย์โดยอาศัยวรรณศิลป์ ในการอ่านวรรณคดีเราก็อ่านด้วยวิจารณญาณ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสาร

๑. ผู้รับสาร-ผู้ส่งสาร เมื่อการสื่อสารไม่ราบรื่น ควรสงบจิตใจทำใจให้เป็นกลาง และไม่หวั่นไหวไปกับการสับสนที่เกิดขึ้นกับการสื่อสารนั้น ค่อยๆพิจารณาอย่าด่วนสรุปว่าตัวสารหรือผู้ส่งสารเป็นต้นเหตุอุปสรรคของการสื่อสาร โดยพิจารณาที่ตัวเราเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงตนเองให้มีความพร้อมยิ่งขึ้น ไม่เกิดการขุ่นข้องหมองใจแก่ทุกฝ่าย อุปสรรคของการสื่อสารก็จะหมดไป
๒. ตัวสาร สารอย่างเดียวกันสามารถนำเสนอได้หลายวิธี โดนจะต้องเลือกวิธีที่เกิดอุปสรรคในการสื่อสารน้อยที่สุด การสื่อสารบางอย่างอาจจะเหมาะกับการเขียน และบางอย่างอาจจะเหมาะกับการพูดก็ได้
๓. ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ต้องสื่อความหมายชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ใช้คำพูดกำกวม การเขียนนี้ต้องระวังมากกว่าการพูด เพราะผู้อ่านไม่อาจสอบถามทำความเข้าใจได้ในทันที จึงต้องระวังไม่ให้ภาษากลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร
๔. สื่อ เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร บางอย่างสามารถแก้ไขได้ เช่น โทรทัศน์และวิทยุมีสัญญาณขัดข้อง แต่บางอย่างก็แก้ไขไม่ได้ เช่น ภาพแผ่นใสที่ปรากฏบนจอไม่ชัดเจน การสื่อสารจึงเกิดอุปสรรค ก็ควรไปใช้สื่ออย่างอื่น เช่น แจกเอกสารประกอบ การบอกกล่าวผู้อื่นเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น
๕. กาลเทศะและสภาพแวดล้อม การสื่อสารต้องประมาณเวลาให้เหมาะสม และต้องเลือกเวลาให้เหมาะสมด้วย เรื่องบางเรื่องไม่ควรพูดในหมู่มากก็อย่าพูด แต่ถ้าอยู่กันสองคนก็อาจจะพูดได้โดยสะดวกใจ ไม่เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร

ปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสาร

๑. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากผู้ส่งสาร
๑.๑ ผู้ส่งสารมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนมีข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ต้องการสื่อไม่เพียงพอ เช่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด เกิดความลังเลไม่แน่ใจ หรือได้รับข้อมูลผิดๆไปโดยไม่รู้ตัว
๑.๒ ผู้ส่งสารขาดกลวิธีในการถ่ายทอดหรือการนำเสนอที่ดี กลวิธีในการถ่ายทอดหรือการนำเสนอที่ดีที่เหมาะสม จะทำให้ผู้รับสารเกิดความสนใจ กระตือรือร้น และรับสารได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น
๑.๓ บุคลิกภาพของผู้ส่งสาร ผู้ส่งสารที่มีบุคลิกภาพที่ดี เช่น แต่งกายดี น้ำเสียงน่าฟัง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ย่อมช่วยปลุกเร้าให้ผู้รับสารเกิดความสนใจที่จะรับสารยิ่งขึ้น
๑.๔ ทัศนคติของผู้ส่งสาร ผู้ส่งสารที่มีทัศนคติที่ดีต่อทั้งตนเองต่อผู้รับสาร ย่อมทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๒. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากสาร
๒.๑ สารยากเกินไปสำหรับผู้รับสาร เช่นเป็นเรื่องที่ผู้รับสารไม่เคยมีภูมิหลังมาก่อน หรือสารมีความสลับซับซ้อน มีข้อมูลหรือการอ้างอิงที่ยุ่งยาก
๒.๒ สารขาดการจัดลำดับที่ดี จะทำให้เกิดความสับสน และขาดความน่าสนใจขึ้นได้
๒.๓ สารที่ขัดกับค่านิยม หรือความเชื่อ หรือขัดต่อระบบความคิดของผู้รับสาร หรือของผู้ส่งสารเอง เช่น กำหนดให้พูดในเรื่องที่ผู้ส่งสารไม่ศรัทธา ไม่มีความเชื่อถือ จะทำให้การพูดไม่มีชีวิตชีวา
๓. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากสื่อหรือช่องทาง ภาษาพูด และภาษาเขียน อาจทำให้เกิดปัญหาในการ สื่อสารด้วยสาเหตุการใช้ภาษาพูด และภาษาเขียนไม่ชัดเจน เช่น พูดออกเสียงไม่ชัด การเลือกใช้คำ ไม่ตรงกับความหมาย การแบ่งวรรคตอน จังหวะการพูด การพูดหรือเขียนสั้นเกินไป หรือยาวเกินไป เป็นต้น ปัญหาในการสื่อสารอาจมีสาเหตุมาจาก สื่อมีขนาดเล็กเกินไป ความไม่ชัดเจนของสื่อ เช่น รูปภาพ สัญลักษณ์ วัตถุสิ่งของ การทำสัญญาณการเคลื่อน ไหว การทำท่าทาง เป็นต้น
๔. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากผู้รับสาร
๔.๑ ผู้รับสารขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารที่ตนจะได้รับ เช่น ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน หรือผู้รับสารมีภูมิความรู้ที่ต่ำหรือสูงเกินไป
๔.๒ ผู้รับสารมีทัศนคติที่ไม่ดี เช่น มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ส่งสาร ต่อสาร จะทำให้ความสนใจลดน้อยลง หรืออาจจะไม่สนใจเลย
๔.๓ ผู้รับสารตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไป เช่น คาดหวังว่าจะได้รับฟังจากนักพูดที่มีชื่อเสียง แต่เมื่อถึงเวลาเข้าจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เป็นต้น

ประเภทของการสื่อสาร

การจำแนกประเภทของการสื่อสาร สามารถจำแนกได้หลายลักษณะตามเกณฑ์ และวัตถุ ประสงค์ที่จะนำมาพิจารณา โดยทั่วไปสามารถจำแนกประเภทของ การสื่อสารตามเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
๑. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร ซึ่งจำแนกไก้ดังนี้
๑.๑ การสื่อสารภายในตัวบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่บุคคลเดียวเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เช่นการคิดอยู่คนเดียว การอ่านหนังสืออยู่คนเดียว การพูดกับตัวเอง
๑.๒ การสื่อสารระหว่างบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่มีบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป สื่อสารกันโดยเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับสลับกันไป มองเห็นหน้าตากัน และพูดกันได้อย่างทั่วถึง การสื่อสารประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นการสื่อสารในลักษณะกลุ่มย่อย ที่ทุกคนสามารถได้แลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรง เช่น การพูดคุยกัน การสอนหนังสือในกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มย่อย การเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เป็นต้น
๑.๓ การสื่อสารกลุ่มใหญ่ หมายถึง การสื่อสารระหว่างคนจำนวนมาก ไม่อาจมองเห็นหน้าตาได้อย่างทั่วถึง สมาชิกในกลุ่มไม่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารกันได้ทุกคน เพราะมีระเบียบวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำนวนสมาชิกก็มากเกินไป เช่น การบรรยายในที่ประชุม การสอนหนังสือในห้องเรียน การกล่าวคำปราศรัย การพูดหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
๑.๔ การสื่อสารองค์การ เป็นการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน หรือหน่วยงานกับบุคคล โดยเนื้อหาของสาร และวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภารกิจ และงานขององค์การ หรือหน่วยงานเท่านั้น เช่น การสื่อสารในบริษัท การสื่อสารในหน่วยราชการ การสื่อสารในโรงงานอุตสาหกรรม เป็น ต้น
๑.๕ การสื่อสารมวลชน หมายถึงการสื่อสารที่มีไปยังประชาชนจำนวนมากในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งประชาชนจะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยสื่อเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีอยู่ ๔ ชนิด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
๒. จำแนกตามลักษณะการใช้ภาษา จำแนกได้ ๒ ประเภท คือ
๒.๑ การสื่อสารที่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน ได้แก่ การสื่อสารที่ใช้ ภาษาพูดและภาษาเขียน เช่น การพูดบรรยาย การอภิปราย การเขียนหนังสือ เป็นต้น
๒.๒ การสื่อสารที่ไม่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงอวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่ไม่ได้อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน ได้แก่ การสื่อสาร ที่ใช้อากัปกริยาท่าทาง หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น กริยาอาการ สิ่งของ เวลา ร่างกาย สถานที่ น้ำเสียง เป็นต้น
๓. จำแนกโดยถือเกณฑ์เห็นหน้าค่าตากัน คือ ยึดเอาตำแหน่งที่อยู่ของผู้ส่งสาร และผู้รับสารเป็นหลักพิจารณา จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๓.๑ การสื่อสารแบบเผชิญหน้าหรือการสื่อสารทางตรง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสาร และผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นกัน โต้ตอบซักถามกันได้ทันทีทันใด และมองเห็นอากัปกริยาซึ่ง กันและกันได้ตลอดเวลาที่ทำการสื่อสาร เช่น การสนทนากัน การเรียนการสอนในห้องเรียน การประชุมสัมมนา เป็นต้น
๓.๒ การสื่อสารแบบไม่เห็นหน้าหรือการสื่อสารทางอ้อม เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันทั้งสถานที่และเวลา ไม่สามารถซักถามหรือตอบโต้ได้ในทันทีทันใดและไม่สามารถสังเกตกริยาท่าทางซึ่งกันและกันได้ โดยจะอาศัยสื่อกลางเข้ามาช่วย เช่น โทรเลขหนังสือพิมพ์ จดหมาย เป็นต้น
๔.จำแนกโดยถือเกณฑ์ความสามารถในการโต้ตอบกัน
๔.๑ การสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่มีโอกาสได้โต้ตอบกัน อาจะเห็นหน้าหรือไม่เห็นก็ได้ โดยผู้ส่งสารไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้พูด หรือโต้ตอบกัน เช่น ครูกำลังสอนนักเรียน โดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นเลย
๔.๒ การสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถตอบโต้ได้ขณะทำการสื่อสาร เช่น การคุยตอบโต้กันทางโทรศัพท์ การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น
๕. จำแนกประเภทตามเกณฑ์ความแตกต่างระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสาร มี ๓ ประเภท คือ
๕.๑ การสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างเชื้อชาติ เป็นคนละภาษา ดังนั้นการสื่อสารประเภทนี้ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องศึกษาภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ของผู้ที่ตน เองสื่อสารด้วย เช่น ชาวไทยสื่อสารกับชาวอังกฤษ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นการสื่อสารอาจจะล้มเหลวได้
๕.๒ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารของคนต่างวัฒนธรรมกัน ซึ่งผู้ ส่งสารและผู้รับสารอาจเป็นคนในประเทศเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน เช่น การสื่อสารระหว่างคนไทยภาคกลาง กับภาคเหนือ คนไทยพื้นราบกับคนไทยถูเขา เป็นต้น
๕.๓ การสื่อสารระหว่างประเทศ เป็นการสื่อสารในระดับชาติ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของชาติ การสื่อสารประเภทนี้มักเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการ
๖. จำแนกโดยถือลักษณะเนื้อหาวิชา จำแนกได้ ๘ ประเภท คือ
๖.๑ ประเภทข่าวสาร เป็นการสื่อสารที่เน้นเอาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบข่าวสาร นำ ไปประยุกต์ใช้กับงานด้านการกระจายข่าว การส่งข่าว การนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ ตลอดจนการพัฒนาวิธี วิเคราะห์ระบบข่าวสาร
๖.๒ การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารที่มุ่งถึงทฤษฎีการสื่อสารใน สถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การสื่อสารแบบตัวต่อตัว การสื่อสารกลุ่มย่อย ตลอดจนการสื่อสารกลุ่มใหญ่
๖.๓ การสื่อสารมวลชน เป็นการสื่อสารที่มุ่งส่งสารไปสู่คนจำนวนมากซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ให้ได้รับสารเดียวกันในเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน
๖.๔ การสื่อสารการเมือง เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาไปในทางการเผยแพร่ข่าวสารการ เมือง การประชาสัมพันธ์หาเสียง การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการเมือง การเลือกตั้งตลอดจนระบอบ การปกครอง
๖.๕ การสื่อสารในองค์การ เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาให้ทราบถึงประสิทธิผลของ การดำเนินงานในองค์การ หรือหน่วยงานทั้งในการบริหารและการจัดการ
๖.๖ การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หมายถึง บุคคลในประเทศเดียวกัน สื่อสารต่างๆวัฒนธรรมกัน หรือการสื่อสารกับบุคคลต่างประเทศ ต่างเชื้อชาติกัน เนื้อหาของสารก็ย่อมเกี่ยวข้องกับทฤษฎี และพฤติกรรมทางวัฒนธรรมด้วย
๖.๗ การสื่อสารการสอน เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหามุ่งเน้นถึงหลักวิชาการ การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ ซึ่งอาจจะอยู่ในระบบการสอน หรือเทคโนโลยีการสอน เช่น การสอนในห้องเรียน การสอนระบบทางไกล เป็นต้น
๖.๘ การสื่อสารสาธารณสุข เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นเนื้อหาในการพัฒนาสุขภาพ พัฒนาคุณภาพของชีวิตของประชาชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาระบบการสาธารณสุข การเผยแพร่ โน้มน้าว ใจให้ประชาชนตระหนักในการพัฒนาสุขภาพพลานามัย

วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

มนุษย์ทุกคนมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น และเพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นดำเนินไปอย่างสันติสุข การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยปกติมนุษย์จะใช้การสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
๑. เพื่อแจ้งให้ทราบ หมายถึง การสื่อสารที่ผู้ส่งสารจะแจ้ง หรือบอกกล่าวข่าวสาร ข้อมูลเหตุการณ์ ความคิด ความต้องการของตนให้ผู้รับได้ทราบ
๒. เพื่อสอนหรือให้การศึกษา เป็นการสื่อสารที่มุ่งจะให้ผู้รับมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านองค์ความรู้ ความคิด สติปัญญา จึงมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน หรือการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการโดยเฉพาะ
๓. เพื่อสร้างความพอใจหรือให้ความบันเทิง หมายถึง การสื่อสารที่มุ่งให้เกิดผลทางจิตใจหรืออารมณ์ ความรู้สึกแก่ผู้รับสาร เช่น ทำให้เกิดความบันเทิง รื่นเริง สนุกสนาน เกิดความพอใจ เกิดความสุข ความสบายใจ เป็นต้น
๔. เพื่อเสนอหรือชักจูงใจ จะมุ่งเน้นให้ผู้รับสารมีพฤติกรรมคล้อยตาม หรือยอมปฏิบัติตาม เช่น เปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยไม่ชอบมาชอบได้ ฉะนั้น ผู้ส่งสารจึงต้องใช้วิธีการนำเสนอสารในรูปแบบของการแนะนำ ชี้แนะ หรือยั่วยุ และปลุกเร้าที่เหมาะสม

องค์ประกอบของการสื่อสาร

องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสารนั้นมี ๔ ประการ เพราะถ้าหากขาดองค์ประกอบประการใดประการหนึ่งไป การสื่อสารก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย องค์ประกอบทั้งหมด ๔ ประการ มีรายละเอียดดังนี้
๑. ผู้ส่งสาร ( Sender ) หมายถึง บุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นผู้สร้างสาร หรือ แหล่งกำเนิดสาร แล้วส่งสารไปยังบุคคลอื่น หรือไปยังหน่วยงานอื่นด้วยวิธีใดวิธีการหนึ่ง หรือ อาจหลายวิธี เช่น การพูด การเขียน การแสดงท่าทาง เป็นต้น ผู้ส่งสารจึงถือเป็นองค์ประกอบประการแรก ที่ทำให้กระบวนการสื่อสารเกิดขึ้น เพราะเป็นผู้เริ่มต้นการสื่อสารนั่นเอง ดังนั้นผู้ส่งสารอาจเป็นบุคคลคนเดียว กลุ่มบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันองค์กรก็ได้
ผู้ส่งสารควรตระหนักอยู่เสมอก็คือ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสารที่จะสื่อออกไปนั้นอย่างแจ่มชัด มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เข้าใจถึงความสามารถและความพร้อมในการรับสารของผู้ที่ตนจะสื่อสารด้วย รวมทั้งเลือกใช้วิธีการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารครั้งนั้นๆบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
๒. สาร ( Message ) หมายถึง เรื่องราวหรือสิ่งต่างๆที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ที่ผู้ส่งสารต้องการส่งไปให้ผู้อื่นได้รับ และเกิดการตอบสนอง สารประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ
๒.๑ รหัสของสาร ได้แก่ภาพ สัญลักษณ์ หรือสัญญาณต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้แสดงออกแทนความคิด หรือความรู้สึกต่างๆ ดังนั้น สารจึงจำแนกได้ ๒ ลักษณะ คือ
๑) รหัสของสารที่เป็นถ้อยคำ ( วัจนภาษา ) ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
๒) รหัสของสารที่ไม่เป็นถ้อยคำ ( อวัจนภาษา ) ได้แก่ กิริยาท่าทาง สัญลักษณ์ และสัญญาณต่างๆ
๒.๒ เนื้อหาของสาร ได้แก่ มวลความคิด และประสบการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการจะ ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน เนื้อหาของสารจะแฝงไปกับรหัสของสาร เมื่อผู้รับสารสามารถ ถอดรหัสของสารได้ ก็แสดงว่าเข้าใจเนื้อหาของสารนั้นแล้ว เราแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑) เนื้อหาของสารที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นองค์ความรู้ หลักเกณฑ์ หรือข้อสรุปที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว มีเหตุผลยอมรับได้ว่าเป็นความจริง สามารถอ้างอิงได้
๒) เนื้อหาของสารที่เป็นข้อคิดเห็น คือ ความรู้สึกหรือความคิดส่วนตัวของผู้ส่งสาร โดยอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้
๒.๓ การจัดสาร ได้แก่ การนำเนื้อหาของสารมาเรียบเรียงอย่างมีระบบ เพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหาที่ต้องการ ด้วยการเลือกใช้รหัสของสารที่เหมาะสม เช่น การเลือกใช้คำ การใช้ท่าทางประกอบ การจัดลำดับความ การอธิบาย เป็นต้น สารที่ได้รับการจัดอย่างดี จะทำให้สารมี จะทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ส่งสารต้องการ
๓. สื่อและช่องทาง ( Medium and Channel ) คือ สิ่งที่เป็นตัวกลางทำให้สารเคลื่อนตัวออกไปจากผู้ส่งสาร มีทั้งสื่อที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อากาศ คลื่นแสง คลื่นเสียง และสื่อที่มนุษย์ทำขึ้นหรือผลิตขึ้น เช่น โทรศัพท์ หนังสือ นิตยสาร แถบบันทึกเสียง โดยสารจะถูกถ่ายทอดเข้าสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ เช่น อวัยวะ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นช่องทางของผู้ส่งสารผ่านช่องทางของสารไปสู่ผู้รับสาร
๔. ผู้รับสาร ( Receiver ) หมายถึง จุดหมายปลายทางที่สารจะส่งไปถึง ผู้รับสารอาจเป็นบุคคลเดียว หรือเป็นกลุ่มก็ได้ ถ้าหากผู้รับสารตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้ส่งสาร ก็แสดงว่าผู้รับสารเข้าใจความหมายของสารที่ส่งมา ผู้รับสารจึงมีหน้าที่แปลความหมายของสารส่งสารต่อไปยังผู้รับสารคนอื่นๆตามที่ผู้ส่งสารกำหนดจุดมุ่งหมายไว้

การสื่อสาร

ความรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสาร
การอยู่ร่วมกับคนอื่น เราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งทางกายภาพ เช่น การแบ่งเบาภาระงาน ซึ่งช่วยให้เราใช้แรงน้อยลง และการเกื้อกูลกันทางจินตภาพ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ สนุกสนาน รู้สึกปลอดภัย โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร โลกไม่มีพรมแดนขีดกั้น โดยมีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยรับส่งข่าวสารได้อย่างรวดเร็วผู้มีข้อมูลข่าวสารกว้างไกลย่อมได้เปรียบ ในทุกๆด้าน มนุษย์ในยุคโลกไร้พรมแดนจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางภาษา และการสื่อสารที่ดี