องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสารนั้นมี ๔ ประการ เพราะถ้าหากขาดองค์ประกอบประการใดประการหนึ่งไป การสื่อสารก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย องค์ประกอบทั้งหมด ๔ ประการ มีรายละเอียดดังนี้
๑. ผู้ส่งสาร ( Sender ) หมายถึง บุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นผู้สร้างสาร หรือ แหล่งกำเนิดสาร แล้วส่งสารไปยังบุคคลอื่น หรือไปยังหน่วยงานอื่นด้วยวิธีใดวิธีการหนึ่ง หรือ อาจหลายวิธี เช่น การพูด การเขียน การแสดงท่าทาง เป็นต้น ผู้ส่งสารจึงถือเป็นองค์ประกอบประการแรก ที่ทำให้กระบวนการสื่อสารเกิดขึ้น เพราะเป็นผู้เริ่มต้นการสื่อสารนั่นเอง ดังนั้นผู้ส่งสารอาจเป็นบุคคลคนเดียว กลุ่มบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันองค์กรก็ได้
ผู้ส่งสารควรตระหนักอยู่เสมอก็คือ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสารที่จะสื่อออกไปนั้นอย่างแจ่มชัด มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เข้าใจถึงความสามารถและความพร้อมในการรับสารของผู้ที่ตนจะสื่อสารด้วย รวมทั้งเลือกใช้วิธีการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารครั้งนั้นๆบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
๒. สาร ( Message ) หมายถึง เรื่องราวหรือสิ่งต่างๆที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ที่ผู้ส่งสารต้องการส่งไปให้ผู้อื่นได้รับ และเกิดการตอบสนอง สารประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ
๒.๑ รหัสของสาร ได้แก่ภาพ สัญลักษณ์ หรือสัญญาณต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้แสดงออกแทนความคิด หรือความรู้สึกต่างๆ ดังนั้น สารจึงจำแนกได้ ๒ ลักษณะ คือ
๑) รหัสของสารที่เป็นถ้อยคำ ( วัจนภาษา ) ได้แก่ ภาษาพูด และภาษาเขียน
๒) รหัสของสารที่ไม่เป็นถ้อยคำ ( อวัจนภาษา ) ได้แก่ กิริยาท่าทาง สัญลักษณ์ และสัญญาณต่างๆ
๒.๒ เนื้อหาของสาร ได้แก่ มวลความคิด และประสบการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการจะ ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกัน เนื้อหาของสารจะแฝงไปกับรหัสของสาร เมื่อผู้รับสารสามารถ ถอดรหัสของสารได้ ก็แสดงว่าเข้าใจเนื้อหาของสารนั้นแล้ว เราแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑) เนื้อหาของสารที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นองค์ความรู้ หลักเกณฑ์ หรือข้อสรุปที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว มีเหตุผลยอมรับได้ว่าเป็นความจริง สามารถอ้างอิงได้
๒) เนื้อหาของสารที่เป็นข้อคิดเห็น คือ ความรู้สึกหรือความคิดส่วนตัวของผู้ส่งสาร โดยอาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้
๒.๓ การจัดสาร ได้แก่ การนำเนื้อหาของสารมาเรียบเรียงอย่างมีระบบ เพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหาที่ต้องการ ด้วยการเลือกใช้รหัสของสารที่เหมาะสม เช่น การเลือกใช้คำ การใช้ท่าทางประกอบ การจัดลำดับความ การอธิบาย เป็นต้น สารที่ได้รับการจัดอย่างดี จะทำให้สารมี จะทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ส่งสารต้องการ
๓. สื่อและช่องทาง ( Medium and Channel ) คือ สิ่งที่เป็นตัวกลางทำให้สารเคลื่อนตัวออกไปจากผู้ส่งสาร มีทั้งสื่อที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อากาศ คลื่นแสง คลื่นเสียง และสื่อที่มนุษย์ทำขึ้นหรือผลิตขึ้น เช่น โทรศัพท์ หนังสือ นิตยสาร แถบบันทึกเสียง โดยสารจะถูกถ่ายทอดเข้าสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ เช่น อวัยวะ หรือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นช่องทางของผู้ส่งสารผ่านช่องทางของสารไปสู่ผู้รับสาร
๔. ผู้รับสาร ( Receiver ) หมายถึง จุดหมายปลายทางที่สารจะส่งไปถึง ผู้รับสารอาจเป็นบุคคลเดียว หรือเป็นกลุ่มก็ได้ ถ้าหากผู้รับสารตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้ส่งสาร ก็แสดงว่าผู้รับสารเข้าใจความหมายของสารที่ส่งมา ผู้รับสารจึงมีหน้าที่แปลความหมายของสารส่งสารต่อไปยังผู้รับสารคนอื่นๆตามที่ผู้ส่งสารกำหนดจุดมุ่งหมายไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น